Princess Gayayani Vadhana Institute of Music : แนะนำสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

Princess Gayayani Vadhana Institute of Music : แนะนำสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา




สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในมงคลวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อชาวไทยตลอดมา รวมทั้งเพื่อเป็นการสนองพระปณิธานในการที่จะพัฒนาดนตรีคลาสสิกของประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ ด้วยการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษทางดนตรีคลาสสิกให้มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งการส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ด้านดนตรีคลาสสิกที่ดี ให้กับสังคมไทย

นับตั้งแต่การได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. 2555 ทางสถาบันฯ ได้มีการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาทางด้านดนตรีที่มีความเป็นเลิศ พร้อมไปกับการเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในการให้ความรู้กับประชาสังคม ตามปณิธานที่ว่า ดนตรีแห่งชีวิต ดนตรีแห่งแผ่นดิน  (Musique de la Vie et de la Terre - Music of Life, Music of Land) อันกล่าวถึงคุณค่าของดนตรี ที่มิเพียงแต่ครอบคลุมถึงดนตรีคลาสสิกในฐานะของความหรูหราและความงาม หากแต่รวมไปถึงดนตรีที่มีความละเอียดอ่อน เต็มไปด้วยชีวิต และนำไปสู่การพัฒนาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ รวมทั้งสามารถเข้าไปอยู่ในจิตใจของผู้คนในทุกระดับชั้น


จาก มาตรา ๖ พระราชบัญญัติสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้กำหนดให้สถาบันฯ เป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงในทางดนตรีและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ และเพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับพระปณิธาน และบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ สถาบันฯ จึงได้ กำหนดพันธกิจไว้สามประการ ได้แก่ 1) สร้างและพัฒนาบุคลากรทางด้านดนตรีคลาสสิกที่มีศักยภาพสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถจะประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านดนตรีให้เป็นประโยชน์ และเหมาะสมกับบริบทของสังคม 2) เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านดนตรีและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับสังคม และ 3) เป็นศูนย์รวมในการศึกษาค้นคว้าวิจัย บูรณาการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านดนตรีระหว่าง บุคคล ชุมชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ


หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (B.M.) 
สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา มีปรัชญาที่จะมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศ และมีความเข้าใจในศิลปะทางด้านดนตรีอย่างลึกซึ้ง มีความตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาดนตรีทั้งในฐานะศาสตร์และศิลป์ มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องและสามารถบูรณาการองค์ความรู้เพื่อการสร้างสรรค์งานดนตรี งานค้นคว้าวิจัยทางด้านดนตรีที่มีคุณค่า มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านดนตรีในการสร้างสรรค์ชุมชน สังคมและเทศชาติ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนั้น เป็นไปเพื่อสนองพระปณิธานในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการพัฒนาดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าและมีคุณภาพเทียบเท่านานาชาติ หลักสูตรดุริยางคศาสตบัณฑิต สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา มุ่งผลิตบุคลากรทางด้านดนตรีที่มีความเป็นเลิศ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแสวงหาความรู้เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตระหนักถึงบทบาทของดนตรีในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ และสามารถบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านดนตรีกับศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม

หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา เป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับแนวทางการจัดทำหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีการจัดกลุ่มรายวิชาออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ กลุ่มวิชาศึกษาทั่วไป กลุ่มวิชาทักษะ ปฏิบัติ กลุ่มวิชาสร้างเสริมวิชาชีพ และกลุ่มวิชาเลือกเสรี ในแต่ละกลุ่มรายวิชา นักศึกษาจะมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในมิติที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมไปถึงความสามารถในด้านทักษะดนตรี ความรู้เท่าทันในการเปลี่ยนแปลงของความรู้ดนตรี และความเข้าใจในบริบทของสังคมปัจจุบัน โดยนักศึกษาสามารถที่จะเลือกศึกษาในหัวข้อที่ตนเองสนใจได้อย่างอิสระ และสอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา

รายวิชาในแต่ละกลุ่มของหลักสูตร มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในด้านที่แตกต่างกันไป รายวิชาในกลุ่มรายวิชาทักษะปฏิบัติ มุ่งเน้นที่จะให้นักศึกษาได้พัฒนาความสามารถในการปฏิบัติดนตรีผ่านการเรียนรู้รายวิชาทักษะวิชาเอก (Major Skill) การบรรเลงรวมวง (Chamber Music) ปฏิบัติการทักษะดนตรี (Practice Lab) และ ทักษะผู้แสดงดนตรี (Performing Musicianship) โดยวิชาในกลุ่มนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตรที่จะทำให้นักศึกษามีศักยภาพในด้านการปฏิบัติดนตรีเทียบเท่าระดับนานาชาติ ซึ่งวิชาในกลุ่มนี้ นักศึกษาจะต้องเรียนควบคู่ไปกับรายวิชากลุ่มวิชาสร้างเสริมวิชาชีพที่ให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของความรู้ดนตรีผ่านกลุ่มรายวิชาที่ครอบคลุมความเชี่ยวชาญเฉพาะต่างๆ ทางด้านดนตรี โดยนักศึกษาสามารถเลือกได้ตามความสนใจพร้อมๆ ไปกับการเรียนในรายวิชาโครงการพิเศษที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้กระบวนการในการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านดนตรีเข้ากับการปฏิบัติทักษะ และรายวิชาอื่นๆ ผ่านการทำโครงการทั้งในรูปแบบของการแสดงเดี่ยว การทำโครงการวิจัยและปัจฉิมนิทัศน์

นอกจากนี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีการในการประยุกต์และสื่อสารความรู้ทางด้านดนตรีกับสาธารณชน ผ่านการทำงานในสถานการณ์จริงผ่านรายวิชา ดนตรีเพื่อประชาสังคม (Music for Society) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างให้นักศึกษาสามารถที่จะเข้าใจในบริบทของสังคมปัจจุบันและสามารถที่จะใช้องค์ความรู้ทางด้านดนตรีตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้

หลักสูตรของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ยังได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับรายวิชากลุ่มวิชาศึกษาทั่วไป ที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนานักศึกษาให้มีความรอบรู้และความสามารถที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ต่างๆ ได้ โดยวิชาในกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วย หมวดวิชามนุษยศาสตร์ (เลือกอย่างน้อย 6 หน่วยกิต) สังคมศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (เลือกกลุ่มละอย่างน้อย 8 หน่วยกิต) โดยนักศึกษาสามารถที่จะเลือกเรียนได้ตามความสนใจ

อัตราส่วนของรายวิชาในแต่ละกลุ่ม สามารถที่จะสะท้อนลักษณะพิเศษของหลักสูตรของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นหลักสูตรที่มีความเฉพาะเจาะจงในการพัฒนาศักยภาพทางด้านดนตรีของนักศึกษาตาม พระปณิธานขององค์สมเด็จพระเจ้าที่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการที่จะพัฒนาให้เยาวชนผู้ความสามารถทางด้านดนตรีของประเทศไทย สามารถที่จะก้าวไปสู่เวทีนานาชาติได้ อีกทั้งรายวิชาต่างๆในหลักสูตร ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีความกลมกลืนและสร้างเสริมให้กับรายวิชาทักษะทางด้านดนตรีอันจะช่วยสร้างให้เยาวชนเหล่านี้ กลายเป็นบุคลากรทางด้านดนตรีที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังสามารถที่จะประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านดนตรีให้เป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติได้ต่อไป



ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
สถานที่ : 2010 อรุณอมรินทร์ 36 บางยี่ขัน บางพลัด กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10700
โทร : 02-447-8597 แฟกซ์ : 02-447-8598
อีเมล์ : pgvimactivities@gmail.com เว็บไซต์ : http://www.pgvim.ac.th


แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น