Chiang Mai University : ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดศูนย์เพทซีที และไซโครตรอน ความหวังใหม่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เครื่องแรกในโรงเรียนแพทย์ของประเทศไทย


Chiang Mai University : ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดศูนย์เพทซีที และไซโครตรอน ความหวังใหม่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เครื่องแรกในโรงเรียนแพทย์ของประเทศไทย


ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดศูนย์เพทซีทีและไซโครตรอน(PET/CT and Cyclotron Center) เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง สามารถตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้แม่นยำถึง 90% ยกระดับการบริการสุขภาพของประชาชนในเขตภาคเหนือสู่ระดับ high-end technology เครื่องแรกของ โรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย และเป็นศูนย์เพทซีทีและไซโครตรอนแห่งแรกในภูมิภาคที่ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคแบบครบวงจร โดยมี รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด ในวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2557ณ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ 



     รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ กล่าวว่า “คณะแพทย์ฯ มช. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งศูนย์เพทซีทีและไซโคลตรอน ศูนย์เพทซีทีและไซโครตรอนได้เปิดบริการตรวจวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2557 เราใช้เวลานาน 2 ปีในการดำเนินการจัดตั้ง เนื่องจากเครื่องเพทซีทีสแกนและไซโคลตรอนเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อน มีอุปกรณ์ เครื่องมือและระบบที่ต้องทดสอบกว่า 300 ชิ้น ทุกกระบวนการของการจัดตั้งผ่านการรับรองความปลอดภัยทางรังสีตามกฎหมายจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่ได้มาตรฐานการผลิตสารเภสัชรังสีในโรงพยาบาลของสำนักงานอาหารและยา ผ่านการทดสอบและสอบเทียบคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้เรายังมีทีมบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางจากผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้รับการสนับสนุนในด้านการฝึกอบรมบุคลากรจากโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ(National Technical Cooperation Project) ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA) ตลอดจนได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก Professor Jun Hatazawa, Osaka University ประเทศญี่ปุ่น ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านไซโคลตรอนและการผลิตสารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจเพท/ซีทีสแกน อีกด้วย”


     เครื่องเพทซีทีสแกน (PET/CT scan) เป็นการตรวจทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งได้รวมเอาเครื่องเพทสแกน (PET scan) และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography; CT scan) ไว้ในเครื่องเดียวกัน การตรวจด้วย PET scan จะตรวจหารอยโรคโดยการใช้หลักการการถ่ายภาพเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์ และใช้เครื่อง CT  มาช่วยในการถ่ายภาพและสร้างภาพ เพื่อช่วยบอกตำแหน่งของรอยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น

      รศ.พญ.มลฤดี เอกมหาชัย หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เปิดเผยว่า “เพทซีทีสแกนเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพรังสีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาก มีความไวและความแม่นยำสูงในการตรวจวินิจฉัยโรค จึงถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการตรวจรักษาผู้ป่วย และช่วยในเรื่องการศึกษาและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆทางการแพทย์ ในปัจจุบันกว่า 90% ของเครื่องตรวจ PET/CT scan จะถูกใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง บอกความรุนแรงการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเพราะสามารถตรวจทั้งร่างกายได้ในครั้งเดียวกัน บอกการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และสามารถใช้ในการติดตามดูผลของการรักษาโรคมะเร็งได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยการตรวจจะใช้สารเภสัชรังสีที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาลกลูโคส  โดยเตรียมได้จากเครื่องไซโคลตรอน”

     หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เปิดเผยต่อว่า “นอกจากนี้เครื่องตรวจ PET/CT Scan ยังใช้ในการวินิจฉัยโรคอื่นๆ เช่น โรคทางสมอง และ การวินิจฉัยโรคของหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย มีหลายคนเข้าใจผิดว่า PET/CT scan จะสามารถใช้ในการตรวจคัดกรอง(screening)โรคมะเร็งเบื้องต้นได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่มาสนับสนุนว่าเราสามารถใช้ PET/CT scan สำหรับการค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งบางชนิดก็ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่องเพทซีทีสแกน ดังนั้นก่อนการตรวจแพทย์จะต้องพิจารณาถึงรายละเอียดและข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยแต่ละคนทุกครั้ง”

     ปัจจุบันศูนย์เพทซีทีและไซโคลตรอน (PET/CT and Cyclotron Center) ได้เปิดบริการการตรวจวินิจฉัยด้วย SPECT/CT scan ได้แก่ สแกนกระดูก,สแกนต่อมไทรอยด์,สแกนต่อมพาราไทรอยด์,สแกนทั้งตัวด้วย I-131 ในผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ชนิด well differentiate ,MUGA เพื่อดูการบีบตัวและปริมาตรของห้องหัวใจ,การตรวจไต,สแกนตับและทางเดินน้ำดี (Hepatobiliary scan) และการตรวจมะเร็ง โดยใช้ I-131 MIBG, Ga-67 และ Octreoscan โดยได้เปิดให้บริการในวันจันทร์- ศุกร์ เวลา 08.30 –17.00 น. ณ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

     สำหรับการบริการด้านงานวิจัย  ศูนย์ฯมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือ ด้านเพท/ซีทีและไซโคลตรอนที่ทันสมัย พร้อมให้บริการแก่นักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนี้ ผู้สนใจสามารถขอเข้าเยี่ยมชมหรือติดต่องานวิจัยได้ตลอดเวลาทำการ โทร.053-94-9790

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น