Bangkok University : ยกระดับ "นักธุรกิจตัวจริง" ม.กรุงเทพเปิดหลักสูตรสร้างเศรษฐกิจ

Bangkok University : ยกระดับ "นักธุรกิจตัวจริง" ม.กรุงเทพเปิดหลักสูตรสร้างเศรษฐกิจ


     ม.กรุงเทพ ผนึก Babson College, USA มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก สาขาผลิตผู้ประกอบการ เปิดหลักสูตรปริญญาโทเจาะลึกถึงแก่น สร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่แห่งแรกแห่งเดียวในอาเซียนและในไทย “สมคิด” ระบุ เป็นตัวช่วยยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า


     นายเพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้เปิดหลักสูตรนานาชาติปริญญาโทหลักสูตรใหม่ล่าสุด การจัดการมหาบัณฑิต สาขาความเป็นผู้ประกอบการ (Master of Management in Entrepreneurship : MME) บรรจุอยู่ในคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (School of Entrepreneurship and Management, BANGKOK UNIVERSITY : BUSEM) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะเน้นสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการโดยตรง


“หลักสูตรนี้มีความแตกต่างจากหลักสูตรปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Master of Business Administration : MBA) หลักสูตรอื่นๆในปัจจุบันที่จะมุ่งเน้นการเรียนเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปทำงานในฐานะพนักงานในองค์กร แต่หลักสูตร MME ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่สนใจจะสร้างกิจการจริงๆ โดยหวังผลให้นักศึกษาสามารถเริ่มธุรกิจได้เมื่อจบการศึกษา เป็นเจ้าของธุรกิจที่มีความเป็นมืออาชีพและต่อยอดธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน”

     ทั้งนี้ หลักสูตร MME จะมีการผสมผสานการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจจริงของนักศึกษา โดยเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวที่มีเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน ที่สำคัญยังเป็นหลักสูตรที่มีการพัฒนาและผนึกกำลังกับ Babson College, USA มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกที่ได้รับการยอมรับในการผลิตและพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการมาโดยตลอด มาร่วมกันคิดค้นพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาแบบเต็มรูปแบบ โดยจะอิงกับหลักสูตรของ Babson College แต่มีการปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย

     ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรนี้ขึ้นเพราะเล็งเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการ ซึ่งเสมือนเป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการขนาดย่อยและขนาดกลาง(เอสเอ็มอี) มากกว่า 90%

     จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของเจ้าของธุรกิจที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปภายใต้หลักวิชาการบริหารจัดการธุรกิจที่มีทิศทางชัดเจน สามารถแข่งขันในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

“ความเป็นผู้ประกอบการสามารถสร้างได้ พัฒนาได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีธุรกิจอยู่แล้ว หรือธุรกิจที่ครอบครัวสร้างมา แล้วเราไปรับช่วงต่อ ซึ่งการเรียนหลักสูตรนี้ก็เสมือนเป็นพี่เลี้ยง ที่จะช่วยผลักดันทำให้นักศึกษาก้าวไปเป็นผู้ประกอบการอย่างมีความรู้ ความเข้าใจ อย่างครบเครื่องในทุกๆด้าน”

     นายสมคิดกล่าวต่อว่า เนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นผสมผสานระหว่างการเรียนทฤษฎีกับการปฏิบัติจริง (Co-curricular Education) โดยจะเป็นการลงมือสร้างและทำธุรกิจจริง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของหลักสูตรนี้ เพราะการจะจบหลักสูตรได้ นักศึกษาจะต้องมีโครงการธุรกิจที่ลงมือทำจริงมานำเสนอ โดยหลักสูตร MME จะแบ่งเป็น 4 เทอม ใช้เวลาเรียน 1 ปี เทอมที่ 1 จะเป็นการติดอาวุธทางปัญญาเตรียมวิชาความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นในการเป็นเจ้าของธุรกิจ


     เทอมที่ 2 จะเป็นการสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หาไอเดียการทำธุรกิจผ่านวิชาต่างๆ ที่ได้เรียนและลงมือปฏิบัติจริง และไฮไลต์ของเทอมนี้คือ นักศึกษาทุกคนจะได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนที่ Babson College, USA เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อปรับแนวความ คิดและวิสัยทัศน์ เสริมสร้างความพร้อมในการใช้สร้างธุรกิจของตนเอง รวมทั้งนักศึกษายังมีโอกาสสัมผัสกับผู้ประกอบการในแถบบอสตัน ซึ่งถือเป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจชั้นนำมากมายของสหรัฐฯอีกด้วย

     สำหรับเทอมที่ 3 และ 4 จะใช้เวลากว่า 5 เดือน ให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างธุรกิจ ลงมือสร้างแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ที่ใช้ได้จริง และนำไปเสนอต่อนักลงทุนต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยจะเชิญมารับฟังเพื่อหาแหล่งเงินทุน และถ้าแผนธุรกิจมีแหล่งเงินทุนให้การสนับสนุน นักศึกษาก็สามารถที่จะ

    เริ่มดำเนินธุรกิจของตนเองตามแผนที่วางไว้ได้เลย ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดหลักสูตรดังกล่าวติดต่อได้ที่ 0-2350-3500 ต่อ 1404

“โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้คือ จะทำอย่างไรถึงจะสามารถขยายขนาดเศรษฐกิจของประเทศให้ได้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ระดับปานกลาง และถ้าจะก้าวให้พ้นจากจุดนี้มี 2 แนวทาง คือ 1.จะทำอย่างไรที่จะยกระดับผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และผลักดันให้ประเทศก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ (ครีเอทีฟ อีโคโนมี) แนวทางที่ 2 การส่งเสริมความสามารถผู้ประกอบการ เพราะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับเศรษฐกิจจะเป็นประเทศที่สามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ โดยเพิ่มแนวคิดการสร้างนวัตกรรมให้ออกมาในเชิงการค้า อาทิ เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับการยกระดับสถานะผู้ประกอบการทั้งเรื่องขนาด ปริมาณ ความเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ได้”

เว็บไซต์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ : http://ww.bu.ac.th/

ที่มาข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น