Chiang Mai University : มช. จัดพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยในมหาวิทยาลัย พร้อมเป็นต้นแบบให้สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

Chiang Mai University : มช. จัดพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยในมหาวิทยาลัย พร้อมเป็นต้นแบบให้สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย



     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา   และศาลยุติธรรม ทำ MOU ความร่วมมือเพื่อการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยในมหาวิทยาลัย  โดยมีพิธีลงนาม  เมื่อวันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารยุทธศาสตร์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


      สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนให้เกิดสันติวัฒนธรรมและศูนย์ไกล่เกลี่ยขึ้นในมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนั้นสองมหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกันศึกษาแนวคิด การสร้างศูนย์ไกลเกลี่ยสมานฉันท์และสันติวิธีในมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งขั้นพื้นฐานของโรงเรียนพัฒนาผู้นำและสร้างสันติธรรม รักสคูล เป็นวิทยากร ผู้ประสานงานระหว่างสองมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดศูนย์ไกล่เกลี่ย  ที่เป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย พร้อมดูแลจัดทำโครงสร้างการดำเนินการจัดการแก้ปัญหาข้อพิพาททางเลือก มีกระบวนการส่งเสริมให้เกิดสันติวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย

      จากการเปิดเผยของ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แจ้งว่า ปัจจุบันความขัดแย้งที่เห็นอยู่ในสังคมไทยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และทางออกที่สังคมไทยรู้จัก คือการเอาแพ้เอาชนะกัน ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากันที่ศาลหรือใช้กำลังแทนการพูดคุยกัน เพื่อหาทางออก ศาสตราจารย์ นพ. วันชัย วัฒนศัพท์ ได้ทำการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติ ด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยมาตลอด 20 ปี ได้มองเห็นว่ามหาวิทยาลัย    ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิต จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และสร้างเสริมวัฒนธรรมแห่งความสมานฉันท์และสันติวิธี โดยเฉพาะการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยได้ผลักดันทั้งเชิงนโยบายและแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม  ได้เชิญชวน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ (กบม.) ของมหาวิทยาลัย ให้จัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ย สมานฉันท์และสันติวิธี ซึ่งที่ประชุม กบม. ขอนแก่น เห็นชอบด้วย ดังนั้นจึงเห็นควรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยดังกล่าวเพื่อเป็นการผลักดันให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ หันมาสนใจ และยังก่อให้เกิดความสมานฉันท์และสันติวัฒนธรรมแทนการเอาแพ้เอาชนะกัน


     มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการบรรยาย การอภิปราย การศึกษากรณีตัวอย่าง การระดมสมอง       การปฏิบัติการสัมมนาเชิงวิชาการและการศึกษาดูงาน ซึ่งเน้นหลักหลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้เข้ารับการอบรม ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น     ซึ่งได้แก่ ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายนิติการ ฝ่ายบุคคล ฝ่ายกิจการนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ไปศึกษาดูงานในองค์กรที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ศาลอาญา รัชดา และโรงเรียน    พนมสารคามพนมอดุลวิทยา จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้รับรู้แนวคิดการสร้างศูนย์ไกล่เกลี่ยสมานฉันท์และสันติวิธีในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างระบบการเจรจาไกล่เกลี่ย แทนการเอาแพ้    เอาชนะกันระหว่างบุคลากรของสถาบัน ตลอดจนให้สามารถผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเครือข่ายสมานฉันท์ระหว่างมหาวิทยาลัย ศาลยุติธรรม  หน่วยงานราชการ และเอกชน

 สำหรับการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างสำนักศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการดำเนินการพัฒนาการระงับข้อพิพาททางเลือกในมหาวิทยาลัย ในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 นี้ ได้จัดขึ้นโดยมีผู้บริหารร่วมการลงนาม ดังนี้

       1. ศาสตราจารย์พิเศษ  ทศพร ศิริสัมพันธ์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
       2. คุณภัทรศักดิ์ วรรณแสง   เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
       3. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
       4. รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย   อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
      การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นแนวทางให้เกิดการสนับสนุนและร่วมมือกันทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือก  การดำเนินการและการพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาททางเลือกในสถาบันการศึกษา  การเผยแพร่แนวคิดหลักการในการพัฒนาการป้องกันความขัดแย้งและแก้ไขปัญหา  ความขัดแย้งโดยใช้วิธีการระงับข้อพิพาททางเลือก (ADR : Alternative Dispute Resolution) ให้แพร่ขยายไปสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ และสังคมไทย ตลอดจนให้เกิดความร่วมมือ สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน เพื่อให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก ให้สามารถนำไปใช้ปฏิบัติงาน และแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

     ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://www.prcmu.cmu.ac.th/activity_detail.php?act_id=3140
     เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : http://www.cmu.ac.th/

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น