Khon Kean University : มข.วิจัยน้ำมันสมุนไพรสกัดต้านโรคนมโคอักเสบ ดันเกษตรกรผลิตนมคุณภาพ

มข.วิจัยน้ำมันสมุนไพรสกัดต้านโรคนมโคอักเสบ ดันเกษตรกรผลิตนมคุณภาพ





นักวิจัยด้านเภสัชศาสตร์และสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระดมสมองวิจัยน้ำมันสมุนไพรสกัดต้านโรคเต้านมวัวอักเสบแทนการใช้ยาปฏิชีวนะได้สำเร็จ ผลักดันเกษตรกรไทยผลิตนมที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันโรคเต้านมวัวอักเสบ ถือเป็นปัญหาเรื้อรังของเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงวัวนม ทำให้น้ำนมวัวที่ได้ไม่มีคุณภาพและปริมาณลดลง นอกจากค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงแล้ว เกษตรกรยังต้องสูญเสียรายได้คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำนมวัวเป็นจำนวนมาก ประมาณความเสียหายโดยรวม 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี แนวทางการรักษาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการนำยาปฏิชีวนะและยาต้านการอักเสบมาใช้ ซึ่งยาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาและการปนเปื้อนในน้ำนม น้ำนมวัวที่ได้จะขาดคุณภาพและส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในที่สุด


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม 2557 เวลา 10.30 น. (วันนี้) ได้มีการแถลงข่าวโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จุ่มเต้านมวัวจากน้ำมันสมุนไพรสกัดที่สามารถฆ่าเชื้อก่อนเกิดโรคเต้านมอักเสบ ภายในงานนักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 4 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ศ.นพ.วีระชัย โควสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมเป็นเกียรติ รศ.ดร.ศจี สัตยุตม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย เป็นประธานกล่าวเปิดงานและกล่าวขอบคุณนักวิจัยและสื่อมวลชน รศ.ดร.วัชรี คุณกิตติ นักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.สพญ.สุณีรัตน์ เอี่ยมละมัย คณบดีและนักวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกันขึ้นแถลงข่าวความสำเร็จของงานวิจัยโครงการฯ พร้อมด้วย อ.ดร.จรีรัตน์ เอี่ยมสะอาด จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ หนึ่งในคณะนักวิจัยร่วมโครงการฯ คณาจารย์ นักวิจัย และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 50 คน


รศ.ดร.วัชรี กล่าวว่า “ที่มาของงานวิจัยเกิดจากการหารือร่วมกันระหว่างอาจารย์คณะสัตวแพทย์ศาสตร์กับอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในประเด็นงานวิจัยเพื่อสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงพบโจทย์งานวิจัยที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโรคเต้านมวัวอักเสบของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำให้น้ำนมวัวไม่มีคุณภาพ ปริมาณลดลง เกษตรกรต้องสูญเสียรายได้และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง สาเหตุของโรคเกิดจากการอักเสบและติดเชื้อของเต้านมวัว อันเนื่องมาจากการทำความสะอาดเต้านมก่อนและหลังรีดไม่ดีพอ หรือเกิดจากการรีดนมด้วยเครื่องรีดนมที่แรงเกินไป ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสะอาดเต้านมวัว และการรีดนมวัวที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันการเกิดโรค ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่เกษตรกรนำมาใช้ในการทำความสะอาดเต้านมวัวจะเป็นยาปฏิชีวนะหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่เตรียมจากสารเคมี เมื่อใช้เป็นระยะเวลานานจะทำให้วัวดื้อยา และก่อให้เกิดสารตกค้างในน้ำนม ตามมาด้วยปัญหาการปนเปื้อนในน้ำนม ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในที่สุด


คณะนักวิจัยหลายท่าน ได้แก่ รศ.ดร.สพญ.สุณีรัตน์ เอี่ยมละมัย อ.ดร.จรีรัตน์ เอี่ยมสะอาด รศ.ดร.มุกดา จิตต์เจริญธรรม จากคณะเภสัชศาสตร์ รศ.ดร.ฉันทนา อารมย์ดี จากคณะเภสัชศาสตร์ และนางเนตรชนก จิวากานนท์ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกันศึกษาแนวทางการนำสมุนไพรมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะ โดยเล็งเห็นศักยภาพของสมุนไพรไทยว่ามีสรรพคุณสามารถฆ่าเชื้อได้ จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จุ่มเต้านมวัวที่สามารถฆ่าเชื้อก่อนเกิดโรคเต้านมอักเสบ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.) จากนั้นทำการเก็บตัวอย่างจากแม่วัวในฟาร์มเครือข่ายของกรมปศุสัตว์ โดยนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมปศุสัตว์ พบเชื้อที่ให้ก่อเกิดโรคมากที่สุด 2 ชนิด คือ แสตปฟิโลคอกคัส ออเรียส และ สเตร็ปโตคอกคัส อกาแลกเตีย

จากเชื้อก่อโรคที่พบนำมาทดสอบกับน้ำมันสมุนไพรหลายชนิด พบว่าน้ำมันสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้มากที่สุดมีอยู่ 7 ชนิด เป็นน้ำมันที่สกัดจากสมุนไพร ได้แก่ ตะไคร้ พลู ขมิ้นชัน ไพล กระเพรา โหระพา และมะกรูด จากนั้นนำน้ำมันสมุนไพรสกัด 7 ชนิด มาพัฒนาเป็นตำรับยาทดสอบฤทธิ์การฆ่าเชื้อได้ภายในระยะเวลาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ แล้วทำการทดสอบกับแม่วัวจริง จนประสบผลสำเร็จได้ผลิตภัณฑ์จุ่มเต้านมวัว จากนั้นนำมาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมทดลองใช้ ปรากฏว่าผลสะท้อนจากเกษตรกรอยากให้ผลิตภัณฑ์มีความสะดวกในการใช้งานด้วย คณะนักวิจัยจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากตำรับยาเดิมเป็นแบบสเปรย์ฉีด เพื่อให้เกษตรกรได้เลือกใช้ตามความเหมาะสม

จุดเด่นของน้ำมันสมุนไพรสกัดที่นำมาใช้ทำยาฆ่าเชื้อหัวนมแม่วัวก่อนและหลังรีดนม นอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยๆ ในน้ำนมแล้ว ยังมีกลิ่นหอมและระเหยได้ง่าย ความหนืดน้อยสามารถไหลเข้าสู่ท่อนมวัวได้ง่ายในระยะเวลาไม่นานและปริมาณที่ใช้ไม่เยอะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ จึงไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างในน้ำนมเหมือนน้ำยาฆ่าเชื้อที่เตรียมจากสารเคมี ไม่ระคายเคืองเต้านมวัว เก็บไว้ได้นานตามอุณหภูมิห้อง อีกทั้งยังช่วยลดอัตราการติดเชื้อโรคครั้งใหม่ได้ถึงร้อยละ 50 เป็นการลดอุบัติการณ์การเกิดโรคเต้านมอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญลดการนำเข้ายาปฏิชีวนะจากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งในขณะนี้ทั้งผลิตภัณฑ์จุ่มและสเปรย์ฉีดเต้านมวัว ได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้ว ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับเอกชนที่สนใจต้องการต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ กระบวนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำง่าย และลงทุนต่ำ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

 ด้าน รศ.ดร.สพญ.สุณีรัตน์ เผยว่า “โรคเต้านมวัวอักเสบ ถือเป็นปัญหาหลักอันดับหนึ่งของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตน้ำนมทุกประเทศทั่วโลก รองลงมาคือปัญหาการผสมพันธุ์ติดยาก โดยสถานการณ์ของโรคเต้านมวัวอักเสบปัจจุบันพบ 2 รูปแบบ คือ แบบแสดงอาการจะมีลักษณะเต้าบวมร้อนอักเสบ และน้ำนมที่ได้จะมีลักษณะเป็นเกล็ด เม็ด หรือใส ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของเชื้อก่อโรค และแบบไม่แสดงอาการที่จะต้องตรวจสอบจากเม็ดเลือดขาวหรือโซมาติกเซลล์ในน้ำนม จากงานวิจัยในประเทศไทยเผยข้อมูลการสำรวจว่าแบบแสดงอาการมีเปอร์เซ็นต์ไม่สูงมาก เฉลี่ยน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ แม้ในฤดูฝนอาจพบได้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความชื้นทำให้ความเสี่ยงการเกิดโรคสูงขึ้น แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับแบบไม่แสดงอาการที่ส่งผลความเสียหายมากกว่า กล่าวโดยถ้าแม่วัวเป็นโรคเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งเป็นเชื้อกลุ่มเดียวกันเข้าไปทางเต้านม หากไม่ได้รับการตรวจพบอย่างทันท่วงทีและการดูแลอย่างเหมาะสม เมื่อประกอบกับแม่วัวมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เชื้อจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและพัฒนากลายเป็นแบบแสดงอาการในที่สุด เกษตรกรจะสูญเสียน้ำนมไม่สามารถรีดนมได้ และจำเป็นจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา"

ความรุนแรงของโรคเต้านมวัวอักเสบแบบไม่แสดงอาการนั้น เปรียบเสมือนภัยเงียบที่สร้างความเสียหายต่อเนื่องแก่เกษตรกร ลุกลามบานปลายกลายเป็นแบบแสดงอาการที่มีเชื้อบางตัวสร้างสารท็อกซิน จำพวกคลอโรฟอร์มและอีโคไล ทำให้แม่วัวมีไข้สูงและอาจถึงตายถ้าให้การรักษาไม่ทัน และในการรักษาบางครั้งก็ไม่ตอบสนองดีเท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเกษตรกรให้ยารักษาช้าเกินควร ทำให้เกิดการอักเสบของเต้านมวัวจนไม่สามารถผลิตน้ำนมได้อีก เรียกว่า “เต้านมบอด” เบื้องต้นเกษตรกรจึงควรทำตามคำแนะนำที่เป็นสากล ดังต่อไปนี้ ทำการตรวจน้ำนมต้นก่อนทำการรีดนมวัว ถ้ามีลักษณะเป็นเกล็ด ให้รีดทิ้ง ห้ามส่งขาย และให้ยารักษาทันที

ในกรณีแม่วัวเป็นโรคเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการ แต่น้ำนมวัวที่รีดได้ไม่มีลักษณะเป็นเกล็ดหรือเป็นเม็ดเลยก็ตาม ความสูญเสียยังคงเกิดขึ้น จากงานวิจัยทั่วโลกระบุว่าโรคเต้านมวัวอักเสบแบบไม่แสดงอาการ จะทำให้เนื้อนมหรือองค์ประกอบของน้ำนม เช่น เปอร์เซ็นต์ไขมันและโปรตีนในน้ำนมลดลง ทั้งสองเป็นส่วนประกอบสำคัญในการวัดคุณภาพเพื่อประเมินราคาซื้อขายน้ำนม ถ้าเปอร์เซ็นต์ไขมันสูงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าน้ำนมคุณภาพดีราคาขายจะสูงขึ้น และถ้าเปอร์เซ็นต์โปรตีนสูงกว่า 2.8 เปอร์เซ็นต์ก็จะได้ราคาขายจะสูงขึ้นอีกเช่นเดียวกัน ในทางกลับกันถ้าเปอร์เซ็นต์ไขมันและโปรตีนต่ำลงราคาขายก็จะต่ำลง และน้ำนมจะถูกสร้างน้อยลง โดยแม่วัวที่มีโซมาติกเซลล์สูงกว่า 1 ล้านเซลล์ น้ำนมจะถูกสร้างลดลง 20-30 เปอร์เซ็นต์

และน้ำนมจากแม่วัวที่เป็นโรคเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการจะมีไขมันเหม็นหืนและโซเดียมคลอไรด์ปริมาณมากทำให้น้ำนมมีรสชาติเค็ม เมื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น นมยูเอชที อายุการบริโภคจะสั้นลง จากปกติอายุการบริโภคประมาณ 4-6 เดือน และผลิตภัณฑ์อาจจะมีเชื้อปนเปื้อนจำพวก แสตปฟิโลคอกคัส ออเรียส ซึ่งเป็นเชื้อรุนแรงและรักษายาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะเชื้อดังกล่าวจะสร้างสารท็อกซินและสามารถผ่านกระบวนการผลิตนมพลาสเจอร์ไรด์หรือยูเอชทีได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องเสีย

จากปัญหาความรุนแรงดังกล่าว กรมปศุสัตว์จึงทุ่มงบประมาณมหาศาลกำหนดมาตรการเฝ้าระวังโรคเต้านมวัวอักเสบแบบไม่แสดงอาการ โดยเก็บน้ำนมถังรวมฟาร์มหน้าศูนย์รวมนมหรือสถาบันโคนมมาตรวจโซมาติกเซลล์ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานค่าน้ำนมของประเทศไทยต้องมีโซมาติกเซลล์ไม่เกินห้าแสนเซลล์ หากฟาร์มใดมีค่าเกินกำหนดจะได้รับการเฝ้าระวัง และหากกรณีฟาร์มใดไม่พบโรคเต้านมวัวอักเสบเลย แต่ปรากฏว่าถังรวมฟาร์มมีค่าโซมาติกเซลล์เกินมาตรฐาน แสดงว่าการตรวจสอบไม่ทั่วถึง นักส่งเสริมหรือนายสัตวแพทย์ประจำสหกรณ์จะเข้าไปตรวจสอบทั้งระบบของทุกฟาร์ม ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาโรคเต้านมวัวอักเสบยังคงเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมในประเทศไทย โดยเฉพาะโรคเต้านมวัวอักเสบแบบไม่แสดงอาการ แม้จะมีมาตรการเฝ้าระวังโดยการเก็บน้ำนมถังรวมฟาร์มนำมาตรวจโซมาติกเซลล์ แต่กระบวนการดังกล่าวถือว่ายังไม่ครอบคลุมเมื่อเทียบกับมาตรการของต่างประเทศที่สามารถเก็บน้ำนมวัวตรวจบันทึกรายตัวรายวันได้ ในจุดนี้มาตรการเฝ้าระวังของประเทศไทยยังต้องมีการพัฒนาต่อไป ควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมจะต้องผ่านการอบรมซึ่งเป็นกฎระเบียบของสหกรณ์ การอบรมนั้นจะรวมไปถึงการป้องกันและควบคุมโรคเต้านมอักเสบ เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมจะต้องผ่านการอบรมซึ่งเป็นกฎระเบียบของสหกรณ์ การอบรมนั้นจะรวมไปถึงการป้องกันและควบคุมโรคเต้านมอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสำคัญที่สุดคือการใช้เครื่องรีดนมวัวอย่างถูกวิธี กรณีเกษตรกรเลี้ยงวัวนมจำนวนน้อย การรีดนมวัวด้วยมือต้องทำความสะอาดมือ จะสามารถลดปัญหาการเกิดโรคเต้านมอักเสบได้ และกรณีเลี้ยงวัวนมจำนวนมาก ต้องใช้เครื่องรีดนมวัวจะต้องทำความสะอาด และจะต้องควบคุมปัจจัยต่างๆ ของเครื่องรีด เช่น แรงดัน และจังหวะการรีด ให้มีความเหมาะสม เพราะการใช้เครื่องรีดนมวัวไม่ถูกวิธีสามารถทำให้เกิดโรคเต้านมวัวอักเสบได้

ผลการศึกษาวิจัยเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ระบุว่าฟาร์มที่ใช้เครื่องรีดจะเกิดปัญหาโรคเต้านมอักเสบสูงกว่าฟาร์มที่ใช้มือรีด ซึ่งในขณะนั้นเพิ่งเริ่มที่จะมีการนำเครื่องรีดนมวัวมาใช้ แต่ในปัจจุบันฟาร์มส่วนใหญ่นิยมใช้เครื่องรีดกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เครื่องรีดนมวัวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในการอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมนั้น จึงมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ก่อนใช้เครื่องรีดนมทุกครั้งจะต้องทำความสะอาดและเช็ดเต้านมวัวให้แห้ง ไม่ควรใช้เวลานานในการรีดนมวัวแต่ละตัว ควรใช้เครื่องรีดแต่ละเต้านมภายในหนึ่งนาที หากรีดนานเกินไปจะทำให้เต้านมเกิดการอักเสบจากแรงดูดของเครื่องรีดนม เมื่อรีดเสร็จจะต้องใช้น้ำยาจุ่มเต้านมวัวทันที หลังจากนั้นให้วัวยืนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาทีในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อให้น้ำยาจุ่มเต้านมเข้าไปทำปฏิกิริยาและรอให้หูรูดเต้านมปิดสนิท และวิธีการล้างทำความสะอาดเครื่องรีดอย่างถูกต้อง

จากการอบรมเกษตรกรจะเห็นได้ว่าน้ำยาจุ่มเต้านมมีคุณประโยชน์อย่างมาก บางชนิดต้องใช้ทั้งก่อนและหลังการรีดซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันเชื้อได้ดียิ่งขึ้น แต่น้ำยาจุ่มเต้านมโดยเฉพาะก่อนรีดจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้สารเคมี เพราะจะทำให้น้ำนมที่ได้ปนเปื้อน ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสนใจเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อก่อโรคเต้านมวัวอักเสบที่สามารถใช้ทดแทนสารเคมีได้ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาจุ่มเต้านมวัวจากสมุนไพรไทยในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่วงการเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมทั่วโลก”

ภายในงานยังมีการมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ ผศ.ดร.จันทนี อุริยะพงศ์สรรค์ อาจารย์ประจำภาตวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.นพ.วีระชัย โควสุวรรณ เนื่องในโอกาสที่ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง การประกวดผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ในการประชุมระดับโลก 42nd Inter of Inventions of Geneva ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 2-6 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยเรื่อง "สารสกัดสีธรรมชาติจากข้าวโพดม่วง" ที่มีสารแอนโทไซยานินสูง ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง เหมาะสำหรับนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยทรงคุณค่าของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่สามารถสร้างชื่อเสียงในระดับโลกได้สำเร็จ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น